เกี่ยวกับโครงการ

ระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำ






         ปัญหาน้ำเสียและคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานในแม่น้ำคูคลองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปัจจุบันคูคลองที่ประสบปัญหาน้ำเสียอย่างรุนแรง ได้แก่ คลองแม่ข่าและลำน้ำแม่คาว ส่วนแม่น้ำที่กำลังมีปัญหาน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวงและแม่น้ำวังในเขตชุมชน เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติขึ้นโดยจากสภาพปัจจุบันแม่น้ำดังกล่าวได้ประสบปัญหาน้ำเสียในช่วงฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ส่งผลให้มีผลกระทบถึงการดำรงชีวิตของประชาชน และส่งผลกระทบกับการเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำ โดยเกษตรกรประสบปัญหาปลาตายหรือต้องจับปลาก่อนกำหนดเพราะคุณภาพน้ำเกินค่าวิกฤตและขาดการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำเสีย ทำให้ได้รับความเสียหายกันมาก

         ปัญหาน้ำเสียและคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานในแม่น้ำคูคลองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปัจจุบันคูคลองที่ประสบปัญหาน้ำเสียอย่างรุนแรง ได้แก่ คลองแม่ข่าและลำน้ำแม่คาว ส่วนแม่น้ำที่กำลังมีปัญหาน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวงและแม่น้ำวังในเขตชุมชน เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติขึ้นโดยจากสภาพปัจจุบันแม่น้ำดังกล่าวได้ประสบปัญหาน้ำเสียในช่วงฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ส่งผลให้มีผลกระทบถึงการดำรงชีวิตของประชาชน และส่งผลกระทบกับการเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำ โดยเกษตรกรประสบปัญหาปลาตายหรือต้องจับปลาก่อนกำหนดเพราะคุณภาพน้ำเกินค่าวิกฤตและขาดการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำเสีย ทำให้ได้รับความเสียหายกันมาก

         ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำ ภายใต้โครงการจัดการน้ำเสียและขยะชุมชนสู่อนาคตเมืองสีเขียว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น

         ผลการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนการเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนี้

         1. ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบตรวจวัดข้อมูลการไหลของน้ำและคุณภาพน้ำในแม่น้ำคูคลองพร้อมส่งข้อมูลในระยะไกล โดยองค์ประกอบหนึ่งของระบบสารสนเทศในโครงการนี้ ได้มีการติดตั้งสถานีระบบตรวจวัดปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำเบื้องต้นแบบโทรมาตร มีจุดเด่นคือสามารถตรวจวัดได้ทั้งระดับน้ำและคุณภาพน้ำ โดยส่งข้อมูลแบบตามเวลาจริง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำทั้งกรณีน้ำเสียและน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยมีระบบตรวจวัด 20 สถานี ติดตั้งที่ตำแหน่งด้านหน้าของฝายและประตูน้ำ ในแม่น้ำปิง 10 สถานี แม่น้ำ กวง 5 สถานี แม่น้ำวัง 3 สถานี และลำน้ำแม่คาว 2 สถานี ซึ่งได้บูรณาการงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

         2. จัดทำระบบฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่าย เพื่อบริหารจัดการข้อมูลที่ได้รับจากระบบสถานีโทรมาตรตรวจวัด เครื่องแม่ข่ายทำหน้าที่เก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูล สามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ และจัดทำระบบเก็บรวบรวมและการแสดงผลข้อมูลผ่านทางหน้าเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือข้อความสั้นทางมือถือ (SMS)

         3. พัฒนาระบบการพยากรณ์และการเตือนภัยล่วงหน้าสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำเสีย

         4. การดำเนินงานทำโดยโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน โดยได้จัดการประชุมชี้แจงในแต่ละพื้นที่ที่ติดตั้งระบบการตรวจวัด เพื่อกำหนดตำแหน่งสถานีระบบตรวจวัด เมื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดเสร็จแล้ว ได้ทำการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติการใช้งานและบำรุงรักษาระบบให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อร่วมดูแลรักษาให้ใช้งานระบบได้อย่างต่อเนื่อง

         5. พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลกลาง โดยนำผลผลิตที่ได้จากโครงการจัดเก็บในระบบสารสนเทศ นำผลลัพธ์ที่ได้จากระบบฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่าย เชื่อมโยงผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตให้เข้าใจได้ง่ายทางเว็บไซต์ www.thaiwaterqq.com

         ผลผลิตที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ฟื้นฟู เตือนภัย แก้ไขปัญหาน้ำเสียและน้ำท่วมในอนาคต จะได้ใช้ต่อยอดโครงการอื่น ๆ และสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งกรณีน้ำเสียและน้ำท่วม การอุปโภคบริโภค รวมทั้งการเลี้ยงปลากระชังในพื้นที่